หาอะไรก็เจอ

Thursday, September 3, 2009

การเตรียมความพร้อมของพิธีกร

วรรณภา วรรณศรี

“การเตรียมความพร้อมมาอย่างดีเท่ากับได้ชัยชนะมาครึ่งหนึ่งแล้ว” คำกล่าวนี้ทำหน้าที่พิธีกรทุกคนควรจะตรึกระลึกเพื่อเตือนตนเองอยู่เสมอ เพราะการเตรียมความพร้อมที่ดีจะช่วยให้การทำหน้าที่ของพิธีกรราบรื่น และยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่พิธีกรอีกด้วย หากเป็นเช่นนี้..แล้วเราควรจะเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างในฐานะพิธีกร ? จะขอกล่าวแยกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้
การเตรียม...เพื่อสะสมความรอบรู้
เสน่ห์ของพิธีกรก็คือความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพูดแต่ละครั้งซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการรู้เจาะลึกในเรื่องราวที่จะพูดโดยตรงเท่านั้น หากแต่เป็นการรอบรู้เรื่องราวที่สามารถขยายโลกทัศน์ของผู้ฟังให้เกิดความรู้ความเข้าใจกว้างขวางขึ้น และเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือบรรยากาศ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสาระการพูดนั้นๆ ด้วย ในส่วนของการสะสมความรอบรู้ จะขอแบ่งออกเป็น 2 ประการ ได้แก่
1. ความรอบรู้ในเรื่องราวที่จะพูดโดยตรง สมมติว่าท่านต้องทำหน้าที่พิธีกรในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธี 5 ธันวามหาราช หรืองานพิธีการที่มีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จหรืองานที่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นประธาน เหล่านี้เป็นต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องรู้จักใช้คำราชาศัพท์ หรือคำพูดให้เหมาะสมกับลำดับชั้นของบุคคล
นอกจากนี้ หากท่านต้องเป็นพิธีกรงานแต่งงาน งานบวช งานศพ งานเลี้ยงส่ง ฯลฯ ท่านจะต้องศึกษาการพูดตามวัฒนธรรมของแต่ละงานให้ถูกต้อง ผู้เขียนเคยไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ พิธีกรในวันนั้นคงจะตั้งใจมากเมื่อถึงเวลาที่ผู้อัญเชิญหีบเพลิงพระราชทานมาถึง พิธีกรก็กล่าวขึ้นว่า “วันนี้นับเป็นศิริมงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบเพลิง.....” แขกหรือในงานทั้งอมยิ้ม ทั้งอึ้งไปตามๆ กัน เพราะอันที่จริงแล้วงานศพถือเป็นงานอวมงคลที่ถูกน่าจะพูดว่า “วันนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานหีบเพลิง เพื่อประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพแก่......”

หากท่านต้องทำหน้าที่พิธีกรงานประเพณีต่างๆ เช่น งานลอยกระทง งานทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ งานประเพณีสงกรานต์ หรือทำหน้าที่พิธีกรในวันสำคัญทางศาสนาเหล่านี้ เป็นต้น ท่านจะต้องศึกษาที่มาที่ไปของงานนั้น ๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นประวัติของงาน จารีตประเพณี รวมทั้งกิจกรรมที่นิยมกระทำในงานนั้น ๆ ด้วย ไม่ใช่ว่ามาทำหน้าที่อ่านกำหนดการจัดงานอย่างเดียวเท่านั้น ความรอบรู้อย่างลุ่มลึกในสาระเรื่องราวที่เกี่ยวกับการพูดของท่านโดยตรง ถือเป็นกฎเหล็กของการทำหน้าที่พิธีกรเลยก็ว่าได้ (ความเห็นของผู้เขียน) เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ของท่านก็จะเป็นเพียง “ผู้ส่งเสียงบอก” เท่านั้น
2. ความรอบรู้ในเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับการพูด หากจะเปรียบการพูดเหมือนอาหารแล้ว เมื่อใดที่ผู้บริโภค คือ ผู้ฟังต้องรับประทานข้าวเปล่าโดยไม่มีกับข้าวหรือน้ำดื่มเพื่อทำให้กระบวนการรับประทานครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว อาหารมื้อนั้นก็คงจะฝืดคอเต็มที สาระที่พิธีกรพูดก็เช่นกัน หากเป็นเพียงเนื้อโดยไม่มีน้ำบ้างก็ดูกระไรอยู่ ขอขยายความตรงนี้ว่า สมมติท่านต้องทำหน้าที่พิธีกรงานลอยกระทงบริเวณชายหาดพัทยา แน่นอนท่านต้องพูดเรื่องราวประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยกระทง และกิจกรรมที่กระทำให้วันนี้ ส่วนนี้ คือ ความรอบรู้ในสาระที่พูดโดยตรงซึ่งตรงกับข้อความประการแรกที่กล่าวข้างต้น แต้ถ้าหากท่านเพิ่มเติมเรื่องราวของการลอยกระทงในทะเลว่ามีความแตกต่างอย่างไร กับการลอยกระทงในน้ำจืด หรือถ้าท่านพูดถึงเกร็ดย่อยๆ อื่น เช่นความเป็นมาของเพลงลอยกระทงเพิ่มเติมขึ้นมา ส่วนนี้คือ ความรอบรู้ตามความหมายในข้อความประการที่สอง
ตัวอย่าง คำพูดของพิธีกรในงานลอยกระทง
“.....ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านคะ ประเพณีลอยกระทงเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล หลายท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ และเยาวชนอาจจะยังไม่ทราบว่าประเพณีลอยกระทงมีความเป็นมา ซึ่งปรากฏตามเอกสาร หรือหนังสือที่นำมาเป็นข้อมูล ”
จากตัวอย่างเป็นการพูดแสดงความรอบรู้ในเรื่องราวโดยตรง เพราะพูดถึงความเป็นมาของประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลสากลทางวัฒนธรรมในสังคมของไทย “....ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวความเป็นมาของประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีคู่ชาติไทยมาเนิ่นนาน แต่ท่านผู้มีเกียรติงานประเพณีลอยกระทง เราจะพบเห็นว่าจะลอยกระทงกันในแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ แต่คืนวันนี้เมืองพัทยา เราจะลอยกระทงกันในท้องทะเลซึ่งเป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากการลอยกระทงในแม่น้ำลำลอง น้ำทะเลจะขึ้นเต็มที่ก็ต้องร่วม 24 นาฬิกา หรือ 6 ทุ่มไปแล้ว ซึ่งนี้ก็เป็นธรรมชาติของทะเลคือเพ็ญ เดือน 12 เพราะฉะนั้นถ้าจะลอยกระทงให้ได้บรรยากาศก็ต้องรอให้น้ำขึ้นเต็มที่ ดิฉันคิดว่าธรรมชาติเอื้ออำนวยกับชาวพัทยาจริงๆ ตอนนี้ขอเชิญชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค ก่อนค่ะ..…” จะเห็นได้ว่า การขยายความเกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติการลอยกระทงที่ชายหาดพัทยาเป็นการพูดแสดงความรอบรู้ในเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่อง เป็นการเพิ่มสีสันของการพูดให้น่าสนใจยิ่งขึ้นเหล่านี้เป็นต้น
นอกจากนี้ พิธีกรจะต้องทันเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น ชื่อ – ตำแหน่งของบุคคลที่เอ่ยถึงต้องเป็นปัจจุบัน หากไม่มั่นใจก็ควรเอ่ยเฉพาะตำแหน่งจะเหมาะกว่า เช่นสมมุติว่ามีนายอำเภอเพิ่งย้ายมาใหม่ ท่านไม่แน่ใจว่านายอำเภอชื่อเสียงเรียงนามว่าอย่างไร ก็เอ่ยเพียงตำแหน่งก็เพียงพอ เพราะหากพูดชื่อ – นามสกุลผิดไปจะทำให้เสียหายมากกว่าได้ดี
ผู้เขียนขอเสนอแนะว่า พิธีกรควรจะจัดทำแฟ้มข้อมูลส่วนตัวเพื่อเก็บสะสมรายละเอียดสาระที่จะเป็นข้อมูลในการพูด สิ่งเหล่านี้จะเป็นวัตถุดิบในการพูดให้เป็นอย่างดี สำหรับผู้เขียนเองจะมีแฟ้มชื่อว่า “ล้วนสาระ” ไว้เก็บวัตถุดิบทางการพูดไว้ เมื่อถึงคราวจะพูดก็จะหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันทีโดยเฉพาะข้อมูลที่เราต้องพูดตามกาลเวลา เช่น งานลอยกระทง งานสงกรานต์ เป็นต้นการเตรียม.....จัดสาระและขั้นตอน ในการทำหน้าที่แต่ละครั้งของพิธีกรจะต้องวางแผนอย่างรัดกุมและครอบคลุมทั้งสาระเรื่องราวที่จะพูดและขั้นตอนต่างๆ เพราะโดยทั่วไปพิธีกรซึ่งเป็นคนในหน่วยงาน หรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้พูด หรือถูกเชิญไปพูดมักจะไม่มี “จัดการ” ดูแลรายละเอียดต่างๆ ให้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีผู้มีอาชีพพิธีกรโดยเฉพาะตามรายการโทรทัศน์ หรือบางงานอาจว่าจ้างบริษัทมาดำเนินการให้ เช่น งานแสดงคอนเสิร์ต งานประกวดนางงาม เหล่านี้เป็นต้น ลักษณะนี้จะมีการจัดเตรียมทีมงานเขียนบทพูด (Script) และจัดขั้นตอนรายการให้เสร็จสรรพก็ถือว่าเป็นกรณีพิเศษไป แต่อย่างไรก็ตามพิธีกรก็ไม่ควรประมาท และเตรียมความพร้อมของ “สาระ” ให้ดี คำว่า “สาระ” ในที่นี้ความหมายรวมถึงลำดับขั้นตอนการพูด และโครงสร้างของงานทั้งหมดด้วย ซึ่งมีข้อแนะนำ ดังนี้
1) ต้องหาข้อมูลว่าเราจะไปพูดงานอะไร สถานที่หรือบรรยากาศของงานเป็นอย่างไรมีใครเป็นประธานในงาน ผู้ฟังเป็นใคร มี่จำนวนมากน้อยแค่ไหน จะต้องใช้เวลาทำหน้าที่นานเท่าใด จากนั้นต้องนำมาวางแผนการพูดเพื่อให้ “ฟังสบายหู ดูสบายตา พาสบายใจ” พิธีกรหลายคนต้องประสบสภาวะ “ตกม้าตาย” เพราะความไม่รอบคอบ เช่น การพูดในที่กลางแจ้งกับการพูดในห้องประชุมบรรยากาศก็ต่างกันแล้ว ห้องแอร์ที่เย็นสบายกับห้องที่มีพัดลมแต่อบอ้าวก็เป็นปัญหาในการพูด เมื่อรู้ข้อมูลทั่วๆ ไป ดังกล่าวแล้วก็เตรียมนำมาจัดขั้นตอนการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดความพรั่งพรูทั้งภาษา และลีลาการพูด
2) ควรจัดทำกำหนดการของงานไว้คร่าวๆ ว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร หากบางงานเจ้าของงานเตรียมกำหนดการขั้นตอนไว้แล้วก็ต้องขอข้อมูลเหล่านั้นมาศึกษาก่อน และสอบถามพูดคุยจนเป็นที่เข้าใจตรงกันกับเจ้าของงานหรือผู้รับผิดชอบ ถ้าหากเจ้าของงานไม่จัดเตรียมขั้นตอนของงานไว้แน่นอนที่สุด พิธีกรต้องจัดเตรียมให้และชี้แจงให้เจ้าของงานรับทราบแลเห็นชอบ บางงานเจ้าของงานจะเตรียมขั้นตอนเสียเยินเย้อ พิธีกรต้องช่วยให้คำแนะนำด้วย
3) ต้องศึกษาโครงสร้างของการพูดแต่ละงานให้ถ่องแท้ งานที่เป็นทางการ เช่น งานพระราชทานเพลิงศพ งานที่ไม่เป็นทางการหรืองานกึ่งทางการโครงสร้างของการพูดจะแตกต่างกัน
ดังนั้น จะเห็นว่า พิธีกรจะต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการพูด การจัดลำดับขั้นตอนของงานไปพร้อมๆ กัน เพราะพิธีกร คือ ผู้ที่สร้างสรรค์บรรยากาศของงานโดยแท้จริง พิธีกร คือ คนแรกที่ต้องพูด และเป็นคนสุดท้ายที่ต้องพูดในงานทุกครั้ง
การเตรียม.....เพื่อการศึกษา
เมื่อเตรียมกระบวนท่าพร้อมลงสู่สนามตามข้อแนะนำต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการเตรียมบรรเลงกระบวนท่า และลีลาให้สมกับผู้ทำหน้าที่พิธีกร ซึ่งจะแยกประเด็นเป็น 2 วาระ ดังนี้
1) เตรียมตัวก่อนทำหน้าที่ ทุกครั้งก่อนที่จะขึ้นทำหน้ามี่พิธีกรควรวางแผนเตรียมการอย่างรัดกุม สำหรับผู้เขียนเองโดยปกติจะเตรียมตัวเป็น 2 ระยะ ดังนี้
1.1 การเตรียมตัวระยะยาว ซึ่งอาจจะเป็นการเตรียมการตั้งแต่ก่อนทำหน้าที่ตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป บางงานที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น การทำหน้าที่ต่อเบื้องพระพักตร์พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้เขียนจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน (หากทราบล่วงหน้าเป็นระยะยาว) แล้วเตรียมอะไรบ้าง
1.1.1 ศึกษาขั้นตอนกำหนดงาน และพยายามศึกษาจากงานต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยอาจดูจากตามรายการโทรทัศน์ทั้งนี้เพื่อศึกษารูปแบบของงาน และลีลาการพูด รวมทั้งภาษาพูดของพิธีกร

1.1.2 ศึกษาหาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานนั้นๆ โดยการอ่านหนังสือตำราที่เกี่ยวข้อง หรือพูดคุยจากบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย
1.1.3 จัดทำสรุปข้อมูลย่อๆ ในรายละเอียดต่างๆ ที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการพูด
1.1.4 บางกรณีเจ้าของงานจะยังไม่ได้จัดเตรียมกำหนดการขั้นตอนของงานไว้หรือเตรียมไว้แต่ดูยังไม่เหมาะสมพิธีกรต้องช่วยแนะนำด้วย
1.1.5 วางแผนเรื่องการแต่งกายให้เหมาะสม
1.2 การเตรียมตัวระยะสั้น หมายถึง การเตรียมตัวในวันที่จะทำหน้าที่ส่วนนี้ ถือว่า สำคัญยิ่งกว่าการเตรียมตัวในระยะแรก สำหรับผู้เขียนจะเตรียมการ ดังนี้
1.2.1 ไปถึงงานอย่างน้อย ที่สุด 1 ชั่วโมง หรือหากขัดข้องจริงๆ จะต้องไปถึงงานอย่างน้อย 30 นาที ก่อนถึงเวลาเริ่มงาน เพื่อดูความพร้อมของงาน และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
1.2.2 เดินสำรวจบริเวณงานโดยเฉพาะเวที หรือบริเวณที่เราจะต้องยืนพูดเราจะต้องลองเดินขึ้นลงบริเวณเวที และสังเกตว่าบันไดเป็นอย่างไร ขั้นบันไดสูงชันหรือไม่ พื้นเวทีเรียบหรือไม่ การก้าวเดินของเราจะต้องมีเส้นทางอย่างไรจะขึ้นเวทีด้านใดเหล่านี้เป็นต้น
1.2.3 หากจะต้องยืนพูดที่แท่นพูด (Podium) จะต้องลองไปยืนดูและสังเกตว่าความสูงของเราเหมาะสมหรือไม่ ต่ำไปหรือสูงไป หากต่ำไปควรรีบจัดการหาอุปกรณ์ช่วยเสริม เช่น ลังน้ำอัด ขอแนะนำว่าควรหาผ้าคลุมลังด้วยเพราะลังจะมีลักษณะเป็นช่อง เมื่อเราขึ้นไปยืนรองเท้าส้นสูงอาจจะไปติดค้างในช่องได้ หากเราสูงเกินไปอาจจะแก้ไขโดยอะไรรองใต้ขาไมค์โครโฟนก็พอจะช่วยได้ สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างก็คือ บรรดาช่อดอกไม้หน้า Podium อย่าให้บังหน้าตาขณะที่พูดต้องรีบแก้ไขโดยด่วนก่อนทำหน้าที่ บริเวณ Podium มีแสงสว่างพอหรือไม่ต้องตรวจสอบให้เรียบร้อย
1.2.4 ศึกษาอุปกรณ์เครื่องเสียงต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม ต้องทดลองดูว่าเสียงชัดเจนหรือไม่ ไมโครโฟนบางแบบบางรุ่นมีคุณภาพต่างกัน เช่น บางรุ่นพูดห่างประมาณ 1 คืบ เสียงได้ยินชัด บางรุ่นต้องดึงมาใกล้ปากเหมือนนักร้องเสียงจึงจะชัดเจน
1.2.5 เมื่อตรวจสภาพความพร้อมของบริเวณและอุปกรณ์แล้ว ควรหาแนวร่วม เพื่อส่งเสริมบรรยากาศยอมรับการพูดของเรา นั่นคือ อาจจะหาโอกาสพูดคุยกับผู้คนในงานเพื่อทำความรู้จักและสร้างสายสัมพันธ์ก่อนพูด เมื่อถึงเวลาทำหน้าที่จะช่วยสร้างความคุ้นเคยกันระหว่างผู้พูดและผู้ฟังได้ แต่อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวอาจจะไม่ใช่กับการทำหน้าที่ทุกงาน
2) การเตรียมตัวขณะทำหน้าที่ เมื่อพิธีกรเริ่มทำหน้าที่นับแต่วินาทีแรกจนกระทั่งสิ้นสุดงาน นับเป็นการลงสนามแล้ว ทุกกิริยาอาการ ทุกคำพูด คือ ภาพลักษณ์ของความสำเร็จที่ผู้ฟังผู้ชมสมหวัง ถึงจุดนี้พิธีกรต้องทำอย่างไร เพื่อให้ดูดีที่สุดสูตรสำเร็จก็คือ ต้องทำให้ผู้ฟังผู้ชมรู้สึก “ฟังสบายหู ดูสบายตา และพาสบายใจ” ผู้เขียนมีข้อแนะนำจากประสบการณ์ตรง ดังนี้
2.1 เมื่อถึงเวลาต้องพูด การก้าวเดินออกไปยังเวทีหรือจุดที่พูดต้องเดินไปอย่างสง่าผ่าเผย ไม่ก้มหน้าดูปลายเท้า หรือพื้นขณะเดิน หรือเดินเชิดหน้าคอตั้งจนเกินไป เวลาเดินต้องดูกระฉับกระเฉง แต่ไม่ต้องถึงขนาดวิ่งออกมาอย่างลุกลี้ลุกลน ยกเว้น บางงานจะกำหนด Script ไว้ การยืนต้องตัวตรงหลังตรง ถ้านั่งพูดก็ต้องนั่งให้สง่าไม่นั่งไขว่ห้าง หรือนั่งแกว่งแข้งขา
2.2 หากเป็นไปได้ถ้าต้องยืนพูดที่ Podium ควรนำเอกสารข้อมูลการพูดไปว่างไว้ก่อน เวลาเดินขึ้นไปจะได้ไม่ต้องหอบอะไร พะรุงพะรัง
2.3 ขณะพูดต้องมองหน้าผู้ฟังแบบกวาดสายตา ไม่ใช่จ้องอยู่ที่เดียว อย่าก้มอ่านเสียจนไม่เงยหน้า
2.4 ต้องระลึกเสมอว่า พิธีกรคือคนพูดคนแรก และคนสุดท้ายของงาน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำหน้าที่พิธีกรจะต้องสังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟัง ตลอดเวลาว่าผู้ฟังเบื่อหน่ายหรือไม่ พิธีกรต้องหาวิธีการพูดให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นให้ได้ พิธีกรจะต้องยืนอยู่บริเวณใกล้เวทีเพื่อเตรียมทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เช่น พิธีกรกล่าวเชิญประธานมากล่าวเมื่อเขากล่าวจบ พิธีกรต้องเข้าไปทำหน้าที่พูดทันที การปล่อยเวทีให้ว่างเปล่า และเงียบถือเป็นความรับผิดชอบของพิธีกร
เหล่านี้ เป็นเพียงขอแนะนำกว้างๆ เท่านั้น เพราะเมื่อทำหน้าที่จริงๆ จะมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของพิธีกรในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ความเชี่ยวชาญดังกล่าว เกิดได้จากการศึกษา การฝึกฝนอย่างจริงจัง และด้วยความรักในหน้าที่พิธีกรเท่านั้น

No comments:

Post a Comment