หาอะไรก็เจอ

Wednesday, September 2, 2009

ทักษะการเป็นพิธีกร

โดย...นางสาววิธญาพร เอกหิรัณยราษฎร์

พิธีกร ภาษาอังกฤษใช้คำย่อว่า “MC” ซึ่งมาจากคำเต็มว่า “Master of Ceremonies” ไทยใช้คำว่า “พิธีกร” ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายไว้ว่า ผู้ดำเนินการในพิธี, ผู้ดำเนินรายการ ดังนั้น พิธีกร จึงเป็นผู้ที่ดำเนินการในงานพิธีการต่างๆ ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน รู้ขั้นตอนของงาน สามารถจัดลำดับขั้นตอนของงานได้อย่างเหมาะสม และราบรื่นเรียบร้อยจนเสร็จงาน โดยเป็นผู้พูดสื่อสารกับผู้ได้รับเชิญกับแขกที่มาร่วมงาน หรือผู้เป็นวิทยากรกับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา เป็นต้น

อีกความหมายหนึ่งจากพจนานุกรมว่า พิธีกร คือ ผู้ดำเนินการรายการก็แสดงว่าผู้ที่ต้องดำเนินรายการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อหน้าที่ประชุม หรือดำเนินรายการเพื่อออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้ที่ได้รับเชิญให้มาพูดคุยเรื่องราวต่างๆ หรือมาเพื่อแสดง หรือเพื่อปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งให้คนฟัง (หรือคนดู) ได้รู้ก็เป็นพิธีกรด้วย ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์บุคคลที่คนฟัง (หรือคนดู) สนใจ หรือผู้ที่พูดเพื่อดำเนินรายการเกมโชว์ต่างๆ ทางโทรทัศน์ก็ถือว่าเป็นพิธีกรด้วยตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525

พิธีกร ต้องพูดอย่างเป็นพิธีการมากกว่าการพูดของโฆษกในงานพิธีการ โดยต้องพูดตามลำดับขั้นตอนของงานแต่ละโอกาสอย่างเหมาะสม ผู้เป็นพิธีกรจะต้องให้คนฟังเห็นตัว ดังนั้นการแต่งกายต้องสวยงามเหมาะกับโอกาสแต่ละงาน แม้จะไม่สวยหรือไม่หล่อแต่บุคลิกภาพจะต้องดูดี สง่าผ่าเผย จะต้องยืนในตำแหน่งที่ทุกคนในงานหรือในที่ประชุมเห็นได้ชัดเจน พิธีกรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างผู้จัดงาน เจ้าภาพ กับผู้รับเชิญมาพูดหรือรับเชิญมาปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างผู้รับเชิญมาพูดกับผู้ฟัง พิธีกรจะต้องเชิญผู้มาพูดตามลำดับอาวุโสของบุคคลอย่างเหมาะสม โดยรวบรวมรายชื่อผู้ออกมาพูดจากเจ้าของงาน พร้อมกับต้องมีรายละเอียดของผู้ที่จะออกมาพูด หรือออกมาปฏิบัติด้วย และถ้าเป็นไปได้ พิธีกรควรหาโอกาสสอบถามรายละเอียดส่วนตัวจากผู้ที่ได้รับเชิญออกมาพูดเพิ่มเติมได้ด้วยตนเองก็ยิ่งดี แล้วเลือกเฉพาะข้อมูลที่เข้ากับบรรยากาศของงาน เข้ากับเรื่องที่จะเชิญมาพูดอย่างเหมาะสมด้วย

พิธีกร เป็นบุคคลที่สำคัญในการดึงดูดความสนใจให้ผู้ฟัง หรือผู้ชมนั้น ติดตามในสิ่งที่พิธีกรต้องการนำเสนอ ตั้งแต่ต้นไปจนจบรายการ พิธีกรที่ดีจะต้องทำให้ผู้ฟังประทับใจในการดำเนินรายการให้ได้ ทั้งท่วงท่า วาจา กิริยาอาการต่างๆ ตลอดจนความสามารถในการทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรายการและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี การเป็นพิธีกรนั้นถือว่าเป็นการเรียกความสนใจของคนทั่วไป ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เห็นตัวผู้พูด เพราะเสียงของพิธีกรสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ในระยะไกล เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พิธีกรจะต้องมีพลังเสียงที่น่าฟังสามารถสะกดผู้ฟังให้สนใจในสิ่งที่พิธีกรนำเสนอได้และจำเป็นต้องมีทักษะอื่นๆ ประกอบอีกหลายด้านด้วยกัน การเป็นพิธีกรจึงไม่ใช่ใครก็สามารถเป็นกันได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเสียทีเดียว หากเพียงฝึกฝนและปรับปรุงทักษะต่างๆ อยู่เสมอ สิ่งที่สำคัญในการเป็นพิธีกรคือการมีน้ำเสียงที่หนักแน่น ชัดเจน และน่าฟัง ไม่ใช่พูดเบาหรือค่อยจนเกินไป หรือพูดติดๆ ขัดๆ ไม่มีคำพูดติดปาก เช่น เอ้อ อ้า ครับ ค่ะ จึงต้องหมั่นฝึกฝนวิธีการพูด ทั้งการสะกด อักขระต่างๆ การออกเสียง ร ล ตัวควบกล้ำ ต้องชัดเจน น้ำเสียงต้องฟังง่ายและเป็นมิตรกับคนฟัง และยังต้องฝึกการพูดให้มีความเร็วที่เหมาะสม ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ควรฝึกกลั้นลมหายใจเพราะเวลาพูดต่อกันหลายประโยคนานๆ จะได้ไม่เหนื่อย เวลาพูดควรทำจิตใจให้เบิกบาน เสียงจะได้มีความแจ่มใส และควรจะมีรอยยิ้มอยู่ด้วยเสมอ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเสน่ห์ของพิธีกร

สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การวางท่าทาง กิริยา บุคลิกลักษณะต่างๆ ต้องมีความมั่นใจ การยืนต้องสง่างาม การเดินต้องมีมาด ภาพพจน์โดยรวมต้องดูดี และเป็นไปในทางเดียวกันกับเรื่องราวที่พูดถึง หรือนำเสนออยู่ ใช้ลีลาประกอบให้เหมาะสม ควรฝึกหน้ากระจกเพื่อดูว่าตัวเราเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ควรฝึกฝนให้เป็นนิสัย มีบุคลิกที่ดี น่าสนใจอยู่เสมอ การใช้สายตา เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องหมั่นฝึกให้มั่นคง เพราะเวลาพูดต้องมีสมาธิ แยกแยะให้ถูก ควรส่งสายตาไปยังผู้ฟัง ณ จุดใดจุดหนึ่ง อย่ากวาดสายตาไปมา แต่ควรใช้วิธีหันหน้าแทนเพื่อเปลี่ยนมุมมอง ไม่ควรทำตาหลุกหลิก หรือมองสิ่งอื่นที่ทำให้ไขว้เขว สบตากับผู้ฟังเป็นระยะระยะ และประสานสายตากับทีมงานบ้างเพื่อความเรียบร้อยของกำหนดการต่างๆ ว่าเป็นไปตามที่วางไว้หรือไม่ หรือหากต้องมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดกะทันหันจะได้เตรียมตัวได้ทัน

การเป็นพิธีกรที่ดี ที่สามารถดำเนินรายการได้น่าสนใจนั้น ต้องรู้จักวางตัวให้เหมาะสม ศึกษากลุ่มผู้ฟัง ความสนใจต่างๆ สร้างบรรยากาศที่ดีในการดำเนินรายการ สื่อสารกับผู้ฟังได้เป็นอย่างดี สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และให้เกียรติผู้ฟังเสมอ เทคนิคที่สำคัญก็คือ การทำตัวให้กลมกลืนกับผู้ฟัง เช่น เมื่อเป็นพิธีกรด้านกิจกรรมสันทนาการ ต้องวางบุคลิกท่าทางให้มีความกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว การแต่งกายต้องเหมาะสม ยิ้มแย้มแจ่มใส หากกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารหรือกึ่งทางการ ก็ต้องแต่งกายให้ดูดี สุภาพ เน้นความสะอาด เรียบร้อย เป็นต้น พิธีกรที่ทำงานสำเร็จนั้นต้องทำให้การดำเนินรายการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเสมอ คือสามารถสื่อสารข้อมูลวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และผู้ฟังหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดงาน และสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้ รวมถึงสามารถทำให้ผู้ฟังติดตามชมตลอดจนจบรายการ พิธีกรที่ทำเช่นนี้ได้จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ดังนั้นพิธีกรที่ดีจึงควรมีปฏิภาณไหวพริบต่างๆ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และตรึงคนดูไว้ให้จดจ่ออยู่กับการนำเสนอรายการให้ได้ ไม่ว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร พิธีกรที่ดีรู้ว่าควรจะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร นอกจากนี้การจะเป็นพิธีกรที่มีความสามารถนั้นจำเป็นจะต้องศึกษาเทคนิคและวิธีการต่างๆและฝึกฝนตลอดเวลา

คำแนะนำสำหรับพิธีกรที่ดีมีดังนี้
1. ศึกษาจุดเด่น จุดด้อย ของพิธีกร ที่ชื่นชอบอะไรคือสิ่งที่ทำให้พิธีกรคนนั้นเป็นที่ชื่นชมของบุคคลทั่วไป แล้วลองนำเอาสิ่งที่คิดว่าดี มาประยุกต์ให้เหมาะกับตัวเอง

2. ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างใกล้ชิด เพื่อทำตนเองให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ
3. เรียนรู้การใช้เทคนิคการสร้างอารมณ์ขัน หรือเล่นมุข ด้วยการดัดแปลงเหตุการณ์เฉพาะหน้ามาเติมเสน่ห์ให้กับการดำเนินรายการ
4. จัดทำคลังความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การใช้คำพูด สำนวน สุภาษิต คำพังเพย คำคมต่างๆ เก็บสะสมความรู้เหล่านี้ไว้เพื่อนำมาใช้ประกอบการดำเนินรายการ
5. ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมที่คนอื่นมองข้าม แล้วสร้างให้เกิดเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม
6. อ่านหนังสือให้มาก
7. เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเรื่องการเป็นพิธีกรอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นการพัฒนาความรู้ให้กับตนเองในแง่มุมของผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีความสนใจในด้านเดียวกัน ในมุมมองที่เราอาจจะนึกไม่ถึงก็ได้

นอกจากนี้ผู้ที่จะเป็นพิธีกรจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะเหล่านี้ให้มาก ได้แก่ ทักษะในการพูดในโอกาสต่างๆ ทั้งคำทักทายหรือปฏิสันถาร คำกล่าวนำเพื่อโยงเข้าสู่เรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ การพูดชื่อและตำแหน่งบุคคลสำคัญ การแจ้งกำหนดการต่างๆ การแนะนำวิทยากร การกล่าวสรุป และการกล่าวขอบคุณ ทั้งนี้ต้องปรับให้เหมาะสมกับตัวพิธีกรเอง และบรรยากาศของงานที่จัด ซึ่งแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล ไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี การเป็นพิธีกรจำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ทักษะ และพรสวรรค์ต่างๆ มากมายดังที่กล่าวมา

ผู้ที่สนใจจะเป็นพิธีกรที่ดีสามารถเรียนรู้จากศาสตร์ คือหนังสือเกี่ยวกับการเป็นพิธีกร และฝึกปฏิบัติโดยการเข้าอบรมและนำไปใช้จริง คือ นำไปใช้เมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นพิธีกรในงานต่างๆ ทั้งงานที่เป็นพิธีการกึ่งพิธีการ และงานที่ไม่เป็นพิธีการก็จะช่วยให้เกิดศิลป์ในการเป็นพิธีกร

..........................................................................................

หนังสืออ้างอิง
มัลลิกา คณานุรักษ์.2545.เทคนิคการเป็นพิธีกรที่ดี.กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
วทัญญู มุ่งหมาย.2549. ผู้ประกาศและพิธีกรในการดำเนินรายการ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุดา รักไทย ปานจิตต์ โกญจนวรรณ. 2548. พูดอย่างชาญฉลาด. กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท จำกัด.
นิเวศน์ กันไทยนราษฎร์. อยากเป็นพิธีกรดังฟังทางนี้. สุดสัปดาห์.
สืบค้น เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 จาก
www.prettygang.com

No comments:

Post a Comment