หาอะไรก็เจอ

Thursday, September 3, 2009

เทคนิคการใช้ภาษา


วรรณภา วรรณศรี

ความจริงเรื่องการใช้ภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่ถูกกำหนดโดยหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีใช้อยู่แล้วตามลักษณะของการใช้ แต่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงวิธี ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมทั้งกับบุคคล สถานที่ และเวลาโดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่พิธีกร ทั้งนี้ โดยหมายรวมทั้งภาษาพูดและภาษาท่าทาง

ภาษาที่จะต้องใช้จะแบ่งออกเป็นดังนี้
1) คำราชาศัพท์
2) ภาษาทางราชการ
3) ตัวย่อต่างๆ
4) ชื่อเฉพาะ
5) ศัพท์เทคนิคเฉพาะทาง
6) ภาษาแสลงต่างๆ

ในที่นี้จะไม่อธิบายละเอียดว่า ภาษาประเภทที่กล่าวถึงแต่ละอย่างน้อยจะมีวิธีใช้อย่างไร แต่จะขอนำเสนอวิธีกรที่จะส่งเสริมให้ท่านในฐานะพิธีกรได้พัฒนาการใช้ภาษาไ้ด้อย่างถูกต้อง สิ่งหนึ่งท่านจะต้องคำนึงเสมอก็คือผู้ฟังหรือผู้ชมมักจะคาดหวังว่าท่านคือผู้รอบรู้ในการพูดแบะเป็นแม่แบบของการพูดมิฉะนั้นท่านคงจะไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นพิธีกร แล้วท่านควรจะสร้างภาพลักษณ์ของตนเองในการใช้ภาษาอย่างไร

สำหรับผู้เขียนแล้วจะใช้วิธีการดังนี้
1) จะต้องมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปัจจุบันที่สุด และพจนานุกรมภาษาอังกฤษ (Dictionary) ประจำโต๊ะทำงานและที่บ้านเพื่อพร้อมที่จะค้นคว้าเมื่อมีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน หรือความหมายของคำ
2) จะต้องมีหนังสือเกี่ยวกับการใช้ราชาศัพท์ การอ่านคำย่อ การอ่านชื่อเฉพาะต่างๆไว้ประกอบการค้นคว้า
3) ผู้เขียนจะมีแฟ้มส่วนตัวเืพื่อรวบรวมสาระสำคัญต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพูดไว้ชื่อว่า แฟ้มล้วนสาระ ในแฟ้มจะเก็บรายละเอียดหลากหลายที่เห็นว่ามีคุณค่า เช่น การจัดขบวนเครื่องสูงสมัยโบราณ ประวัติกีฬาแหลมทอง Script การจัดงานต่างๆทั้งนี้เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นคลังข้อมูลในการใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี
4) ต้องเป็นคนทันสมัยเสมอนั่นคือต้องรู้ความเคลื่อนไหวของโลก ของสังคมว่าขณะนี้มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อโลกเปลี่ยนไปวิวัฒนาการของภาษาก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ภาษาของวัยรุ่นก็จะมีศัพท์แปลกเพิ่มมากขึ้นเมื่อไปพูดกับคนกลุ่มใดจะได้หยิบมาใช้เป็นสีสันในการพูดได้บ้าง

ข้อแนะนำในการใช้ภาษา
1) เวลาพูดหากมีคำราชาศัพท์ เช่น โปรดเกล้าฯ ต้องอ่านว่า โปรดเกล้ากระหม่อม เป็นต้น 2) หากเป็นคำย่อต้องพูดเป็นคำเต็ม เช่น น.ส.วรรณภา วรรณศรี ต้องพูดว่า
นางสาว...................ส.ส.ต้องพูดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
3) หากเป็นชื่อเฉพาะต้องอ่านตามที่เจ้าของชื่อระบุ เช่น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย หากพิจารณาตามหลักภาษาไทย คำว่า “สุรเกียรติ์” มีตัวการันต์ บังคับอยู่บน”ติ” แสดงว่าไม่ต้องออกเสียง โดยมี “ติ” สะกด ซึ่งน่าจะอ่านว่า “สุ-ระ-เกียน” แต่เป็นชื่อเฉพาะเจ้าของชื่อต้องการให้อ่านว่า ”สุ-ระ-เกียด” เราก็ต้องอ่านตามชื่อเฉพาะเหล่านี้ เป็นต้น
4) การพูดโดยใช้คำภาษาต่างประเทศปะปนไปกับภาษาไ่ทย ผู้เขียนเห็นว่าก็ไม่เป็นข้อห้ามตายตัวว่าไม่สมควรพูด แต่ทั้งนี้ต้องขึ้้นกับความเหมาะสมกับผู้ฟังและสถานการณ์เป็นหลัก
5) การพูดที่มีเสน่ห์อาจจะต้องสอดแทรกด้วยคำคม สุภาษิตคำพังเพย พิธีกรควรจะรวบรวมสิ่งเหล่านี้ไว้และหากจะยกมาเปรียบเปรยก็ควรจะใช้วิธีท่องให้จำดีกว่ายกขึ้นมาอ่าน หรือถ้าจะอ่านก็ต้องอย่าก้มอ่่านจนกระทั่งผู้ฟังจับได้
6) ฟังการอ่านข่าว หรือการบรรยายในงานพระราชพิธี หรืองานพิธีที่สำคัญเสมอเพื่อให้ได้แบบอย่างของการพูด
สำหรับในส่วนของภาษาท่าทางนั้น ผู้ทำหน้าที่พิธีกรทุกคนคงจะรู้หลักกันมาบ้างแล้วจึงไม่ขอนำมาขยายความ ณ ที่นี้ เพียงแต่ขอสรุปไว้ว่าการใช้ภาษานั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง แต่ไม่ยุ่งยากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ หมั่นสังเกต หมั่นฝึกฝน หมั่นประเมินการพูดของตนเอง และศึกษาจากผู้ที่มีแบบอย่างการพูดที่ดีอยู่เสมอ นี่คือ ทางมาซึ่งเทคนิคการใช้ภาษา

No comments:

Post a Comment