วรรณภา วรรณศรี
ที่ต้องนำเรื่องขึ้นมาเขียนก่อนก็เป็นเพราะด่านแรกที่ผู้คนจะนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่า คนแต่ละคนเป็นอย่างไร น่าเลื่อมใสศรัทธาน่าคบหาสมคมด้วยหรือไม่นั้น ก็มักจะเป็นเรื่องของบุคลิกภาพที่ได้พบเห็นกันเป็นครั้งแรก ถึงแม้จะเป็นข้อมูลที่อาจไม่ถูกต้องกับความเป็นจริงมากนักก็ตาม แต่บุคลิกภาพ ก็คือ ภาพลักษณ์ หรือภาพที่ผู้อื่นนึกคิดหรือคาดหวังว่าเราน่าจะเป็นโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่พิธีกร ประกอบกับพิธีกรจำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยปรากฏกายให้สาธารณชนได้เห็นขณะพูดด้วย ดังนั้น พิธีกรทุกคนจึงควรให้ความสนใจภาพลักษณ์ของตนเป็นอันดับแรกก่อนที่จะก้าวสู่สาระของการพูด
สมปราชญ์ อัมมะพันธ์ (ม.ป.ป. : 58) กล่าวว่า ความจริงการพูดเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ และในขณะเดียวกันบุคลิกภาพก็เป็นหัวใจห้องสำคัญของการพูด ผู้พูดที่ดีจึงต้องปรับปรุงบุคลิกภาพให้ดีเพื่อจูงใจผู้ฟังให้เกิดความสนใจ
ด้วยเหตุนี้ พิธีกรจึงต้องใส่ใจกับการเสริมสร้าง และพัฒนาบุคลิกภาพของตนอยู่เสมอเพราะบุคลิกภาพที่ดูดีย่อมสามารถดึงดูดใจให้ผู้ฟังผู้ชมติดตามเรื่องราวหรือรายการที่พิธีกรกำลังดำเนินการได้เป็นอันดับแรก
บุคลิกภาพมิใช่เป็นเรื่องของร่างกายภายนอกเท่านั้น หากแต่หมายความถึง ทุกส่วนทุกสิ่งที่รวมตัวตนของมนุษย์ นั่นคือร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สติปัญญาของบุคคลนั้นๆ ในส่วนของบุคลิกภาพ แบ่งเป็น 4 ด้าน เพื่อสะดวกแก่การศึกษา ดังนี้
ด้านร่างกาย
ด้านร่างกาย หมายถึง รูปร่างและหน้าตา ทั้งนี้ เนื่องจากพิธีกรต้องพูดโดยให้ผู้ฟังได้เห็นหน้าตาไปพร้อมขณะที่พูด ดังนั้น รูปร่างหน้าตาจึงนับเป็นประตูแรกในการเปิดใจผู้ฟัง แต่ ไม่ได้หมายความว่า พิธีกรต้องเป็นคนสวยหรือคนหล่อ ยกเว้น พิธีกรทางรายการโทรทัศน์ หรือพิธีกรบางรายการที่เน้นด้านรูปร่างหน้าตา เช่น พิธีกรการประกวดนางงาม เป็นต้น หากเราไม่สามารถเป็นได้อย่างที่ต้องการจะเป็นก็ขอให้คนหน้าตาสะอาดสดชื่อ ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นนิจเป็นมิตรกับทุกคน พิธีกรต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตั้งแต่เส้นผม ผิวหนัง ผิวหนัง เล็บ ความสะอาดของร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก ผมสะอาดหรือไม่เป็นรังแค กลิ่นกายต้องสะอาด กลิ่นปากต้องสะอาด เล็บมือ เล็บเท้าต้องดูแลให้เรียบร้อย พยายามอย่าให้เป็นหวัดบ่อย เพราะโรคนี้เป็นอุปสรรคต่อหน้าที่ของพิธีกรเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องใช้เสียงเป็นปัจจัยสำคัญ พิธีกรที่พูดไปกระแอมกระไอไป หรือพูดๆ ไป เสียงขาดเป็นช่วงๆ หรือเสียงแหบแห้ง ล้วนมีผลต่อบุคลิกภาพเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ พิธีกรต้องมีอารมณ์ดี สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในสภาพมั่นคงได้ทุกสถานการณ์ หากเราควบคุมอารมณ์ของเราไม่ได้ เราจะเสียพลังแห่งศักยภาพในการควบคุมคนฟังไปทันที
วิธีการเสริมสร้างบุคลิกภาพด้านร่างกาย ที่ผู้เขียนใช้มาตลอดและได้ผลดี มีดังนี้
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เสี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด ดื่มน้ำอุ่นเป็นประจำหรือไม่ก็ดื่มน้ำไม่เย็น เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ วิธีนี้จะช่วยสถนอมรักษาสุขภาพของน้ำเสียงให้มีความคงเส้นคงวาไม่แหบแห้ง 2. หมั่นออกกำลังการเป็นนิจ โดยเน้นการออกกำลังกายที่เหมาะกับวัย และความพร้อมของร่างกาย
3. นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง โดยเฉพาะก่อนวันที่จะต้องทำหน้าที่พิธีกรรายการสำคัญๆ
4. รักษาอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ โดยการจัดช่วงเวลาสำหรับชีวิตแต่ละวันปล่อยพักอารมณ์ด้วยการฟังเพลงบรรเลงเบาๆ แล้วปล่อยใจสบายๆ เวลาที่จะเป็นช่วงตื่นนอนตอนเช้า ประมาณ 15 นาที และก่อนนอนประมาณ 15 นาที แล้วก็ปล่อยให้ร่างกายหลับไปในเสียงเพลง ทำเช่นนี้ เรื่อยๆ สม่ำเสมอ จะเกิดการทับทวีของการเป็นผู้มีอารมณ์ดีได้อย่างน่าประหลาดใจ
5. ศึกษาวิธีการแต่งหน้า แต่งผม เพื่อใช้ในการดึงจุดเด่น และเสริมจุดด้อยของตนเองเพราะโบราณก็บอกไว้ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ท่านคงเคยชมพิธีกรบางรายการ ที่มีรูปร่างอ้วนกลมแถมเตี้ย หน้าตาก็ใช้ว่าจะโดดเด่น แต่เธอก็สามารถดึงจุดเด่นของรูปร่าง และหน้าตาออกมาสู่สายตาประชาชนได้ด้วยศิลปการแต่งหน้าแต่งผม บวกกับลีลาการพูดที่ฟังสนุกสนานเป็นกันเองจนเป็นที่ยอมรับ เช่น คุณสุริวิภา กุลตังวัฒนา พิธีกรรายการสมาคมชมดาว เป็นต้น
ด้านการแต่งกาย
ด้านการแต่งกาย หมายรวมถึง เสื้อผ้า เครื่องประดับจนกระทั่งถุงน่อง รองเท้า การแต่งกายเป็นภาพลักษณ์แรกที่คนจะใช้ตัดสินว่าบุคคลผู้นั้นมาจากสังคมระดับใด มีรสนิยมแบบไหนคนบางคนเป็นคนธรรมดาๆ แต่การแต่งกายของเขาทำให้เขาดูมีสง่าราศีขึ้นมาสร้างความน่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น แต่บางคนเป็นผู้มีทั้งการศึกษาและอยู่ในแวดวงระดับสังคมชั้นสูง แต่การแต่งเนื้อแต่งตัวกลับไม่ส่งเสริมคุณค่าเหล่านั้นเลย หรือบางคนก็ประดับตกแต่งเสียจนหาจุดเด่น ไม่ได้ดูเปื้อนเปรอะเลอะเทอะไปหมด เราควรจะแต่งกายอย่างไรที่เป็นการเสริมบุคลิกภาพในฐานะที่เป็นพิธีกร ขอแนะนำว่ายึดหลักความพอดี อาจมีคำถามต่ออีกหว่าแล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่า พอดี ขอให้ท่านวางแผนว่าลักษณะงาน ลักษณะสถานที่ และรูปแบบของการจัดงานที่จะต้องไฟพูดเป็นแบบไร เช่น เป็นพิธีกรงานแต่งงานก็ควรจะคาดคะเนให้ได้ว่า เจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่งตัวแบบไหน พิธีกรก็ไม่ควรแต่งล้ำหน้าคู่บ่าวสาวไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือสีสันของเสื้อผ้า ถ้าเป็นงานที่เป็นทางการสุภาพสตรีก็ควรจะสวมกระโปรงเป็นหลักไว้ก่อน เพราะกระโปรงสามารถไปในงานเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ได้ เหล่านี้เป็นต้น
การดูแลตนเองด้านการแต่งกายสำหรับพิธีกร ขอแนะนำเป็นแนวทางไว้ ดังนี้
1. หมันสังเกตการณ์แต่งกายของผู้คนรอบข้างในงานสังคมต่างๆ รวมทั้งสังเกตการณ์แต่งกายของพิธีกรตามรายการต่างๆ ทางโทรทัศน์ แล้วนำประยุกต์ใช้กับตัวเรา โดยยึดหลักความเหมาะสมกับตนเองทั้งด้านวัย และสถานการณ์ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงควรคำนึงถึงหลักประหยัดไว้ได้ก็จะเป็นการดี
2. ศึกษาหาความรู้ด้านการแต่งกายจากหนังสือแม็กกาซีนต่างๆ
3. ควรจัดหาเครื่องแต่งกายที่สามารถประยุกต์ปรับแต่งให้สามารถใช้ได้กับงานหลายๆ ลักษณะ เพราะจะช่วยให้สิ้นเปลืองน้อยลง โดยเฉพาะพิธีกรที่ไม่มีผู้สนับสนุนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหมายความว่ามักถูกเชิญไปพูดหรือได้รับมอบหมายให้พูดทุกอย่างต้องจัดหาเอง เสื้อผ้าจึงต้องพยายามเป็นแบบอเนกประสงค์ สีควรเป็นแบบเรียบ ๆ สีออกดำ หรือน้ำเงินจะช่วยให้ปรับเข้ากับเสื้อผ้าสีอื่นๆ ได้ง่าย รองเท้าก็ควรเป็นแบบหุ้มส้นสีออกดำ หรือน้ำตาลเข้มจะดีที่สุดเพราะจะเข้าได้กับเสื้อผ้าทุกสี
4. พิธีการไม่ควรประดับเครื่องประดับมากมายเต็มเนื้อเต็มตัว เพราะจะทำให้จุดสนใจของผู้ฟังหรือผู้ชมไปอยู่ที่เครื่องประดับมากกว่าสาระและลีลาการพูด ตรงนี้จะเป็นการฉุดดึงบุคลิกภาพและความสำเร็จของการพูดไปอย่างน่าเสียดาย
พฤติกรรมที่แสดงออก
พฤติกรรมที่แสดงออก หมายถึง พฤติกรรมต่างๆ ที่ประมวลจากพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ทำหน้าที่พิธีกร ซึ่งขอแยกออกเป็น 3 ประการใหญ่ๆ ดังนี้
1. การใช้กิริยาท่าทาง ซึ่งรวมการยืน การเดิน การนั่ง การทรงตัว การใช้สีหน้า การใช้สายตา การใช้ท่าทางประกอบการพูด พิธีกรต้องตระหนักเสมอว่า พิธีกรคือจุดเด่นของงานเพราะฉะนั้นทุกสายตาจะจ้องมาที่ตัวท่าน การเคลื่อนไหวของท่านทุกๆ อิริยาบถจะมีผลต่อความสำเร็จในการพูดของท่าน
2. การใช้ภา การพูดจาชัดถ้อยชัดคำถูกต้องตามอักขรวิธี เหมาะกับสถานการณ์และวัฒนธรรมองค์กรนั้น จะช่วยเสริมสร้างการพูดของท่านได้อย่างดีถึงแม้ว่าท่านอาจจะไม่ใช่ผู้มีรูปร่างหน้าตาสวยหล่อจนสะดุดตา
3. การใช้น้ำเสียง เรื่องของนี้เสียงดูจะเป็นสิ่งที่อิทธิพลสูงต่อความสำเร็จของพิธีกร เพราะพิธีกรมิใช่เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่อ่าน หรือประกาศเท่านั้น การรู้จักใช้น้ำเสียงเหมาะกับจังหวะการพูด สอดคล้องกับเรื่องราวที่พูดจะช่วยผลักดันอารมณ์ของผู้ชมให้คล้อยตามได้อย่างดี และจะทำให้พิธีกรสามารถควบคุมบรรยากาศของงานได้โดยสิ้นเชิง
ในส่วนของพฤติกรรมที่แสดงออกนั้น จะขอแนะนำไว้ในที่นี้ โดยสังเขปว่า พิธีกรต้องหมั่นสังเกตตนเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาปรับพฤติกรรมของตนเองให้ดียิ่งขึ้น สำหรับรายละเอียดจะกล่าวถึงในบทต่อๆ ไป แต่จะขอฝากข้อคิดตามข้อเขียนของ วิจิตร อาวะกุล (2545) ว่า
บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาได้ สร้างเสริมได้ แก้ไขปรับปรุงได้ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณสมบัติและคุณภาพของบุคคลให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปได้ รวมทั้งให้มีความสามารถเหมาะสมกับสถานะตำแหน่งหน้าที่การงานและวิชาชีพได้ โดยใช้เทคนิค หลักการ วิธีการ ความรู้ในการพัฒนาบุคลิกภาพไปพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะได้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ....
....และการที่จะสร้างให้เป็นคนมีบุคลิกภาพดีทันทีทันใดนั้น ก็ทำได้ยาก ผู้ที่มีบุคลิกดีจึงต้องศึกษาเรียนรู้หลักเกณฑ์ วิธีการ ฝึกฝนพัฒนาในชีวิตตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดบุคลิกภาพที่ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนเกิดเป็นพฤติกรรมที่ถาวรตลอดไป
หาอะไรก็เจอ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment