หาอะไรก็เจอ

Thursday, August 27, 2009

การฝึกพูดจากการฟังรายการวิทยุ

การฝึกวิธีนี้ก็คือการฝึกฟังและหัดพูดตามโฆษก หรือ นักจัดรายการวิทยุ หรือ อีกชื่อหนึ่งที่นิยมเรียกตนเองก็คือ ดี.เจ. ก็จะเป็นแนวทางการฝึกพูดแนวหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือ การพูดให้ถูกอักขระ ออกเสียงสำเนียงที่ถูกต้อง

สำหรับท่านที่จะเป็นพิธีกร หรือ โฆษก ที่ดีนั้นก็ควรที่จะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อสอบรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกาศ จาก กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจัดให้มีสอบทุกปี สามารถสอบถามตารางการสอบได้จาก สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัด หรือ เขตในจังหวัดของท่าน เมื่อสอบได้ใบอนุญาตแล้วก็หมายความว่า ท่านสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุ หรือ โทรทัศน์ได้ แนวทางการสอบนั้นทั่วไปก็จะเป็นการสอบการอ่านข่าวในพระราชสำนัก, ข่าวพยากรณ์อากาศ, ข่าวกีฬา และ ข่าวทั่วไป

สถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นตัวอย่างต้นตำรับของการอ่านข่าวได้เป็นอย่างดี วิธีการพูดการอ่านนั้นเน้นชัดถ้อยชัดคำ การที่จะฝึกพูดจากการรับฟังสถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์นี้มีวิธีที่น่านำไปทดลองฝึกดูนั่นก็คือการบันทึกเสียงลงในม้วนเทปคาสเสท แล้วมาทบทวนการฟัง หรือ จะถอดเทปออกมาเป็นตัวอักษรบนกระดาษแล้วทดลองอ่านตาม แล้วบันทึกเสียงของท่านลงในเทปคาสเสท เมื่อย้อนกลับมาฟังเสียงของท่านเปรียบเทียบกับเสียงต้นฉบับที่บันทึกจากสานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์แล้วท่านก็จะได้พัฒนาการอ่านได้ระดับหนึ่งด้วย

ถ้าฝึกพูดแล้วเสียงยังไม่ชัเจน อักขระไม่ถูกต้อง เสียงไม่ดี ไม่น่าฟัง จังหวะลีลายังไม่ถูกใจ ก็ขอให้ฝึกอ่านหนังสือออกเสียง (ปกติจะอ่านในใจ) วันละประมาณ ๑๐ นาที ทุกวัน เป็นเวลา ๓ เดือน แล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของการพูดว่าดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ข้อสำคัญต้องให้เป็นเสียงและจังหวะลีลาของตัวเอง อย่าไปลอกเลียนพิธีกร หรือ ดี.เจ. คนดังเป็นอันขาด

การฝึกพูดในสโมสรฝึกพูด

การเข้ารับการฝึกพูดในสโมสรฝึกพูดหลายๆสโมสรในประเทศไทยนั้น ส่วนมากการฝึกพูดจะเป็นไปตามหลักสูตร และ แนวทาง ของสโมสรฝึกพูดสากล หรือ Toastmasters International ที่มีสำนักงานกลางอยู่ที่เมือง Santa Ana, California, U.S.A. มี Website คือ www.toastmasters.org มีสาขาของสโมสรฝึกพูดอยู่ทั่วโลก สโมสรฝึกพูดไม่ว่าจะเป็นชุมนุมฝึกพูดตามสถาบันการศึกษาทั่วประเทศต่างก็ได้ใช้หลักสูตรแนวทางเดียวกัน

วัตถุประสงค์หลักในการรับเข้าการฝึกพูดในสโมสรฝึกพูดก็คือการฝึกหัดให้พูด เป็น การฝึกพูดตามหลักสูตร หรือ แนวทางของการฝึกที่มาตรฐาน ก็คือการพัฒนาการพูด พัฒนาความกล้าพูดในที่ชุมชน และ ที่สำคัญที่สุดก็คือรับรับฟังการวิจารณ์จากผู้อื่น เพื่อให้การพัฒนาการพูดสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความหมายของแต่ละบทพูดของหลักสูตรการฝึกพูดมาพอสังเขปดังนี้

บทที่ 1 การแนะนำตัวเอง บทนี้มีจุดมุ่งหมายในอันที่จะให้ผู้พูดกล่าวแนะนำตนเองว่าเป็นใครมาจากไหน เกิดที่ไหน โตที่ไหน ประทับใจอะไร มีอุดมคติเป็นเช่นไร บทนี้เองที่นำพาให้ผู้ฝึกเปิดเผยตัวเองต่อผู้อื่นที่นั่งฟังอยู่ และเป็นก้าวแรกในการพัฒนาตนเอง
บทที่ 2 การพูดจากใจจริง บทนี้มีจุดมุ่งหมายในอันที่จะให้ผู้พูด ให้กล่าวในเรื่องใดก็ได้ที่ท่านมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนั้นๆจากใจจริงของผู้พูดให้ผู้ฟังคล้อยตาม จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่สามารถสะท้อนปัญหาที่ควรจะได้รับความยุติธรรมหรือได้รับการแก้ไข
บทที่ 3 การสร้างโครงเรื่อง บทนี้มีจุดมุ่งหมายในอันที่จะให้ผู้พูดรู้จักวิธีผูกเค้าโครงเรื่อง โดยมี 3 ท่อนๆแรกจะเป็นการกล่าวขึ้นต้น ท่อนสองจะเป็นเนื้อเรื่อง ท่อนท้ายก็จะเป็นบทสรุป
บทที่ 4 การใช้มือประกอบการพูด บทนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะฝึกให้ผู้พูดฝึกการใช้มือประกอบการพูดให้เหมาะสม และสัมพันธ์การบทพูด
บทที่ 5 การใช้น้ำเสียงระดับต่างๆ บทนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มทักษะการใช้เสียงดังค่อยประกอบการพูด เพื่อให้ผู้ฟังสามารถคล้อยตามได้
บทที่ 6 การพูดที่ได้จัดลำดับหัวข้อ บทนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ฝึกจัดเรียงความสำคัญของการพูดอย่างมีลำดับขั้นตอน เป็นการรวมเอาการพูดตั้งแต่บท 1 จนถึงบท 5 มารวมกัน
บทที่ 7 การอ่านคำปราศรัย บทนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้พูดสามารถอ่านรายงาน หรือ กล่าวปราศรัย ได้สมบูรณ์ และมีท่วงท่าในการกล่าวปราศรัย หรืออ่านรายงานสะกดผู้ฟัง
บทที่ 8 การสร้างภาพพจน์ด้วยคำพูด บทนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้พูดสามารถพูดให้ผู้ฟังเกิดภาพพจน์ จินตนาการคล้อยตาม หรือเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้
บทที่ 9 การใช้ศัพท์สำนวน บทพูดบทนี้มีจุดมุ่งหมายในอันที่จะให้ผู้ดสามารถใช้ศัพท์ ที่แปลกไปจากภาษาพูดพื้นๆทั่วไปได้มากขึ้น
บทที่ 10 การพูดในโอกาสพิเศษ บทนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้พูดขึ้นพูดในโอกาสพิเศษ เช่นกล่าวแสดงความยินดี, อวยพร, ยกย่อง, งานเปิดป้าย, งานมงคลสมรส, รับงานใหม่ หรือ ส่งมอบงาน
บทที่ 11 การสร้างโครงเรื่องอย่างละเอียดพิศดารบทนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาผู้พูดให้มีความละเอียดลึกซึ้ง เป็นขั้นสูงกว่าการเอา บทที่ 3 และ บทที่ 6 รวมกันให้ผู้ฟังเข้าใจ, พอใจ, คล้อยตาม
บทที่ 12 ก้าวต่อไปของการฝึกพูด บทนี้ก็จะเป็นบทสรุปที่จะทำให้ผู้พูดมีความสามารถในอันที่จะนำเอาความรู้ในทุกบทความรวมกันเป็นหนึ่ง

หลังจากที่ได้เข้ารับการฝึกในสโมสรฝึกพูดจบลงแล้ว ท่านก็จะเป็นผู้หนึ่งที่พูดเป็น, ลดความประหม่า, ลดความอาย เพิ่มความกล้า, กล้าสู้สายตาผู้ฟัง, รู้จักการเรียงลำดับขั้นตอน, มีลักษณะการเป็นผู้นำเกิดขึ้น, สามารถควบคุมและพูดได้ตามสิ่งที่นึกคิดได้ในทุกโอกาส, สามารถรับฟังความเห็นของผู้อื่นโดยไม่ตอบโต้ ต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของพิธีกรที่ดีในอนาคต

ข้อเสนอแนะ พิธีกร ที่ดีและอยู่ได้นานในเวทีของการเป็น พิธีกร นั้น หากขาดซึ่งการฝึกฝนแล้ว ยากนักที่จะดำรงคงความเก่งของตนเองได้นาน ดังนั้นหากท่านจะเป็น พิธีกร ที่ดีได้ก็ด้วยการฝึกฝน ซักซ้อม บ่อยๆยิ่งมากยิ่งดี ฝึกอ่าน อ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ ฝึกฟังจากวิทยุ และ โทรทัศน์ ฝึกพูดบ่อยๆให้เพื่อนให้ญาติให้ครอบครัวฟังบ่อยๆ พูดบ่อยๆ แล้วฟังคำวิจารณ์ของเขาเหล่านั้นว่าอยู่ในระดับใด พูดจนหมดคนฟังแล้วก็ไปพูดต่อหน้ากระจกเงา พูดบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ หรือ บันทึกเสียงแล้วถอยเทปกลับมาฟังตนเองวิจารณ์ตนเองว่าพูดเข้าตากรรมการหรือไม่ การฝึกต่างๆเหล่านี้ ช่วยท่านได้ ช่วยท่านเป็น พิธีกร ชั้นเลิศได้ เชื่อว่า ท่านทำได้

พิธีกรงานสัมมนา


วัตถุประสงค์ : งานสัมมนา เป็นงานที่ให้ความรู้ เพิ่มพูนทักษะให้ผู้ร่วมสัมมนาจะต้องมีฝ่ายพิธีการที่เชี่ยวชาญ และพิธีกรที่ชาญฉลาดให้การพูดเพื่อผูกใจผู้เข้าร่วมสัมมนาไม่เบื่อ

ด้วยงานสัมมนานั้น เป็นงานที่รวมคนหมู่มากเข้ามาร่วมสัมมนาหาแนวทางความร่วมมือแก้ไขปัญหาพัฒนาวิชาการ ผู้เข้าร่วมสัมมนามีอยู่หลายประเภท กระตือรือล้น สนใจ ไม่สนใจ เบื่อ จำใจมา ถูกบังคับมา เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้จัดการสัมมนามักจะต้องใช้ความระมัดระวังในการจัดหัวข้อสัมมนาให้เป็นที่น่าสนใจ และมีการติดตามผลอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่นในอดีตมีโครงการพัฒนาบุคคลที่ทำงานมานาน จัดสัมมนาเพื่อเป็นการเติมพลังงาน เฉกเช่นกับการอัดประจุไฟ หรือ เติมไฟแบตเตอรี่ ให้มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น มีผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งก็มานั่งฟังพร้อมๆกับการพักผ่อนนั่นก็คือการมานั่งหลับในห้องประชุม ฝ่ายพิธีการจะต้องจัดการประชุมสัมมนาให้รัดกุมและเร่งเวลาให้กระชับ จัดหาผู้พูด ผู้บรรยายที่พูดเก่ง คนฟังไม่นั่งหลับสัปหงก หาหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนา ให้ทุกคนตื่นตัวตลอดเวลา เพราะผู้บรรยายมักจะชี้มาที่ตนเองเพื่อให้ตอบ หรือ ออกความเห็นลักษณะนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาไม่มีโอกาสแม้แต่นิดเดียวที่จะคิดงีบ การสัมนนาต่างจังหวัดในหัวข้อหนักๆ จัดได้อย่างเก่งวันครึ่ง ถ้าหัวข้อไม่หนักก็สามารถใช้เวลา 1 วันเต็ม ถ้าหัวข้อเบาๆ จัดได้บ่อยๆ ก็จัดครึ่งวัน ช่วงบ่ายน่าจะเป็นการดี
ช่วงเช้าก็จะเป็นช่วงของการเตรียมความเรียบร้อยของพิธีการและจัดเตรียมสถานที่
ขั้นตอนที่ 1. การลงทะเบียนผู้เข้าร่วมสัมมนา
ขั้นตอนที่ 2. พิธีกรเชิญประธานจัดงานกล่าวรายงาน
ขั้นตอนที่ 3. พิธีกรเชิญประธานในพิธีกล่าวอวยพรและเปิดการสัมมนา
ขั้นตอนที่ 4. พิธีกรแนะนำผู้เข้าร่วมสัมมนา
ขั้นตอนที่ 5. พิธีกรเชิญผู้ดำเนินรายการเริ่มสัมมนา
ขั้นตอนที่ 6. พิธีกรเชิญประธานจัดงานมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา
ขั้นตอนที่ 7. พิธีกรเชิญประธานจัดงานกล่าวปิดการสัมมนา

เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมพร้อม พิธีกรก็จะขึ้นสู่แท่นพูด สวัสดีครับ/ค่ะ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน วันนี้นับเป็นวันดีวันหนึ่งที่ทุกท่านได้มาร่วมสัมมนาในหัวข้อ......................................... ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากที่สุดในรอบปีนี้ โดยที่ผู้จัดเชื่อว่าท่านจะได้รับความรู้และสนุกไปกับงานสัมมนา ในครั้งนี้ ก่อนอื่นใคร่จะขอเรียนเชิญท่านประธานจัดงานสัมมนา คือ คุณ...................................จะได้ขึ้นมากล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานในวันนี้ ให้แก่ท่านประธานและท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านได้ทราบความเป็นมาพอเป็นสังเขป ขอเรียนเชิณ คุณ...................................ครับ/ค่ะ เมื่อประธานกล่าวจบลง พิธีกรก็จะกล่าวต่อในทันที ต่อไปขอเรียนเชิญท่านประธานในพิธี คุณ..................................................... ได้ให้เกียรติขึ้นมากล่าวอวยพรและกล่าวเปิดการสัมมนา ขอเรียนเชิญ คุณ .................................................... ครับ/ค่ะ เมื่อการกล่าวเปิดจบลงแล้ว พิธีกรก็จะกล่าวแนะนำผู้เข้าร่วมสัมมนา กรณีที่มีผู้เข้าร่วมสัมมนามาเป็นคณะก็กล่าวแนะนำเป็นคณะ แต่ละมาจากหลายหน่วยงานมากจนแนะนำไม่ได้ เนื่องจากจะใช้เวลามาก ก็อาจจะข้ามขั้นตอนการแนะนำนี้ไป ต่อด้วยการเชิญผู้ดำเนินรายการขึ้นทำหน้าที่ทันที ต่อไปขอเชิญผู้ดำเนินรายการสัมมนา ในวันนี้ ขอเชิญ คุณ.......................................... ดำเนินรายการต่อไปได้แล้วครับ/ค่ะ

เมื่อการสัมมนาหรือการประชุมเชิงปฏิบัติการดำเนินไปถึงช่วงสุดท้ายของงาน พิธีกรก็จะขึ้นเชิญประธานมอบเกียรติบัตร ถ้าผู้เข้าร่วมสัมมนามีจำนวนมากเป็นร้อยคนก็ควรจะใช้วิธีให้ไปรับที่จุดลงทะเบียนก็น่าจะสะดวกกว่าการมอบ เนื่องจากรายชื่อและจำนวนคนที่จะรับนั้นส่วนมากมักจะสับสน เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนหนึ่งกลับก่อนเวลา

ข้อเสนอแนะ การสัมมนาหลักใหญ่เจ้าของหัวข้อการสัมมนาต้องการให้ได้ข้อสรุป หรือ ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ข้อมูลและบทสรุปนำไปวิเคราะห์วิจัย อันจะเกิดประโยชน์สูงสุด พิธีกร และ พิธีการนั้นขอให้เน้นช่วยฝ่ายจัดดำเนินการประชุมสัมมนาเรื่องรักษาเวลาการประชุมสัมมนา ต้องอยู่ในกรอบของเวลาที่กำหนดอย่างชัดเจน จึงจะทำให้การสัมมนานั้นเป็นที่ยอมรับว่าสัมมนาแล้วได้ผล มีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุม

พิธีกรงานแต่งงาน แบบที่ 2


ในรูปแบบของงานแต่งงานที่มีรายละเอียดมากขึ้น ฝ่ายพิธีการจะต้องเตรียมรายละเอียดตามลำดับโดยเริ่มจากการสอบถามคู่บ่าวสาว หรือ เจ้าภาพ ซึ่งอาจจะเป็น พ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าว หรือ พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว ว่าจะจัดงานกันที่ไหน เช่น สถานที่จัดงานจะจัดที่โรงแรม ที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่หอประชุมประจำอำเภอ หอประชุมประจำจังหวัด จำนวนแขกเหรื่อที่จะเชิญจำนวนเท่าใด มีแขกผู้ใหญ่หรือไม่ จะเชิญผู้ใหญ่ที่เจ้าภาพเคารพนับถือสวมพวงมาลัยมงคลกี่คู่ ได้กำหนดตัว หรือ เชิญแขกผู้ใหญ่มาอวยพรหรือไม่ จะจัดเลี้ยงเป็นลักษณะใด เช่น เลี้ยงบุฟเฟต์ เลี้ยงโต๊ะจีน เลี้ยงแบบค็อคเทล เครื่องขยายเสียงเป็นแบบใด มีลำโพงกี่ตัว มีดนตรีประกอบงานหรือไม่ ลักษณะใด เป็นเปียโน อิเล็คโทน วงคอมโบ วงแบนโจ วงแชมเบอร์มิวสิค หรือ วงดนตรีวงใหญ่, จะมีการฉายวิดิโอ หรือ ฉายสไลด์ธรรมดา หรือ สไลด์มัลติวิชั่นจากคอมพิวเตอร์ ถึงประวัติของคู่บ่าวสาวหรือไม่? ใช้เวลาประมาณกี่นาที เพื่อจะให้รู้สภาพของงานที่จะจัดทำสคริปต์ให้สมบูรณ์เช่น ถ้าสามารถรู้ถึงสถานที่จัดงาน เราก็จะต้องศึกษาถึงสภาพของห้องจัดเลี้ยง ว่าเวทีจะเป็นรูปลักษณะใด จะต้องขึ้นลงด้านใด เวลาเชิญแขกจะขึ้นลงด้านใด เครื่องเสียงจะเป็นแบบใด เพื่อจะได้ทราบว่า งานนั้นจะสมบูรณ์ด้วยเครื่องขยายเสียงที่มีประสิทธิภาพของเสียงอย่างไรบ้าง

ฝ่ายพิธีการ ต้องจัดการเตรียมขั้นตอนการเชิญผู้สวมพวงมาลัยมงคล ตัวแทนแขกผู้มาร่วมงานให้คำอำนวยอวยพร ผู้บังคับบัญชาของคู่บ่าวสาวให้คำอวยพร และ ผู้กล่าวตอบขอบคุณ อาจจะเป็นตัวเจ้าภาพเองก็ได้ หรือจะเชิญผู้ที่เจ้าภาพเคารพนับถือก็ได้ บางงานผู้กล่าวตอบขอบคุณจะมีทั้งฝ่ายเจ้าบ่าว และ ฝ่ายเจ้าสาว แยกกันกล่าว หากจะมีการแยกกล่าวเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น จีน, อังกฤษ, ญี่ปุ่น ก็จะต้องเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ดี

หากจะเลือกเชิญผู้ขึ้นกล่าวอวยพรในงาน เรียกว่ามาหาเอาในงาน ก็คงจะต้องเรียนให้ผู้ที่จะถูกเชิญให้ทราบก่อนพอสมควร พร้อมทั้งรายงานให้ทราบ ความเป็นมาของคู่บ่าวสาวพอเป็นสังเขป และ เพื่อป้องกันความผิดพลาด ควรจะจดชื่อคู่บ่าวสาว ให้กับผู้ที่ขึ้นกล่าวอวยพร หรือ กล่าวตอบขอบคุณท่านนั้นด้วย พิธีกรต้องหมั่นสังเกตด้วยว่า ตัวอักษรชื่อที่จะจดให้นั้นจะต้องจดชื่อด้วยตัวบรรจง อ่านง่าย และที่สำคัญจะต้องตัวโตพอสมควร เนื่องจาก ส่วนมากมักจะเชิญผู้อาวุโส หรือ ผู้มีเกียรติที่อยู่ในวงการค้าธุรกิจ ส่วนมากก็จะเป็นผู้ที่จัดอยู่ราววัยกลางคนไปแล้ว น่าจะต้องใช้แว่นสายตา ดังนั้นตัวหนังสือที่เขียนให้นั้นหากเป็นตัวโตก็จะช่วยได้อย่างยิ่ง

พวงมาลัยคู่บ่าวสาวจะต้องมีผู้จัดวางบนพาน, จัดเตรียมนำขึ้นสู่เวที, และหลังจากพิธีสวมมาลัยมงคลแล้ว จะต้องมีพี่เลี้ยง หรือ ญาติสนิท หรือ เพื่อนสนิทช่วยมองคู่บ่าวสาวให้พวงมาลัยที่สวมใส่อยู่นั้นจัดให้อยู่ในระดับพองามตลอดงาน เพื่อให้การถ่ายบันทึกภาพจะได้ผลดีที่สุด

พิธีการในแบบที่ 2 นี้ก็จะเพิ่มจากแบบง่ายอีกเล็กน้อยคือ
ขั้นตอนที่ 1 พิธีกร เชิญคู่บ่าวสาวขึ้นสู่เวที
ขั้นตอนที่ 2 พิธีกร เชิญแขกผู้ใหญ่(สามี-ภรรยา) ขึ้นสวมพวงมาลัยมงคล
ขั้นตอนที่ 3 พิธีกร เชิญคู่บ่าวสาวจุดเทียนมงคล และ ตัดเค็ก มงคล
ขั้นตอนที่ 4 พิธีกร เชิญคู่บ่าวสาวลงจากเวทีไปทักทายขอบคุณแขกที่มาร่วมงานพร้อมถ่ายภาพ
ขั้นตอนที่ 5 พิธีกร เชิญแขกที่มาร่วมงานเริ่มรับประทานอาหาร
ขั้นตอนที่ 6 พิธีกร เชิญคู่บ่าวสาวขึ้นสู่เวที เพื่อรับการอวยพรจากตัวแทนแขกที่มาร่วมงาน
ขั้นตอนที่ 7 พิธีกร เชิญเจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าว และ เจ้าสาว ขึ้นบนเวที ยืนเคียงคู่กับคู่บ่าวสาว
ขั้นตอนที่ 8 พิธีกร เชิญเจ้าภาพ หรือ ตัวแทน กล่าวขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน
ขั้นตอนที่ 9 พิธีกร เชิญเจ้าบ่าว เจ้าสาว กล่าวขอบคุณแขก
ขั้นตอนที่ 10 เสร็จสิ้นพิธีการบนเวที พิธีกรเชิญ แขกตามอัธยาศัย

พิธีกรงานแต่งงาน

โดย อานุภาพ ไทยอุปถัมภ์

วัตถุประสงค์ : พิธีมงคลสมรส หรือ พิธีการงานแต่งงาน หรือ จะเป็นพิธีฉลองสมรส หมายถึงการจัดงานโดยเจ้าภาพ เชิญแขกเหรือมาเพื่อร่วมเป็นสักขีพยาน แก่คู่สมรส จำเป็นที่จะต้องจัดให้มีพิธีกร ที่รอบรู้ในการทำหน้าที่เป็นพิธีกรภายใต้พิธีการที่ได้ตระเตรียมขั้นตอนต่างๆอย่างรัดกุม

พิธีการงานแต่งงานแบบง่าย
พิธีการงานแต่งงานแบบง่าย งานมงคลสมรส งานฉลองสมรส หรือ งานแต่งงาน ไม่ว่าจะจัดที่ใดก็ ตามสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ พิธีการ และ พิธีกร พิธีการก็คือการจัดเตรียมรูปแบบทั้งหมดของงาน ตั้งแต่เริ่มว่างานทั้งหมดจะมีอะไรบ้าง เช่น ฝ่ายสถานที่, ฝ่ายบันเทิง, ฝ่ายการแสดง,ฝ่ายต้อนรับ, ฝ่ายรักษาความปลอดภัย, ฝ่ายยานพาหนะ, ฝ่ายถ่ายรูป, ฝ่ายฉายสไลด์, ฝ่ายเสียง, ฝ่ายแสง, ฝ่ายพิธีการ, ฝ่ายพิธีกร ทั้งนี้ในบทนี้ก็จะกล่าวถึงพิธีการและพิธีกรโดยทั่วไป
จะมี 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1. พิธีกรเชิญคู่บ่าวสาวขึ้นสู่เวที
ขั้นตอนที่ 2. พิธีกรเชิญแขกผู้ใหญ่(สามี-ภรรยา)ขึ้นสวมพวงมาลัยมงคล
ขั้นตอนที่ 3. พิธีกรเชิญตัวแทนแขกกล่าวอวยพร
ขั้นตอนที่ 4. พิธีกรเชิญตัวแทนเจ้าภาพกล่าวตอบขอบคุณ
ขั้นตอนที่ 5. พิธีกรเชิญคู่สมรสกล่าวขอบคุณ

ฝ่ายพิธีการ: จัดเรียงลำดับรายนาม 3 ชุด คือ
1.บุคคลที่จะขึ้นสวมพวงมาลัยมงคล
2.รายนามตัวแทนแขกที่จะขึ้นกล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว และ
3.ผู้ที่จะกล่าวตอบขอบคุณในนามเจ้าภาพ หรือ ตัวแทน
รายนามที่ได้นี้จะต้องชัดเจนทั้งยศ ตำแหน่ง ชื่อ นามสกุล ที่ชัดเจนอ่านง่ายสำหรับพิธีกร สำหรับบุคคลที่จะขึ้นสวมพวงมาลัยมงคล ส่วนมากมักนิยมเชิญคู่สมรสที่มีอายุการครองเรือนยาวนาน หรือ ผู้บังคับบัญชาของคู่บ่าวสาว เป็นผู้สวมพวงมาลัยมงคล, อีกทั้งจัดเตรียมพวงมาลัยมงคลให้พร้อม, สำหรับตัวแทนแขกที่จะขึ้นกล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว มักนิยมเชิญผู้ที่เจ้าภาพให้ความเคารพนับถือ หรือ ผู้มาร่วมงานที่มีความพร้อมที่จะขึ้นกล่าวอวยพร ส่วนการกล่าวตอบขอบคุณหากเจ้าภาพพร้อมที่จะกล่าวมักจะกล่าวตอบขอบคุณด้วยตนเอง หรือไม่ก็จะเชิญผู้ที่คุ้นเคยกับครอบครัวคู่บ่าวสาวขึ้นกล่าวตอบขอบคุณแขกผู้มาร่วมงาน ฝ่ายพิธีการก็จะนำรายชื่อมอบให้พิธีกรทำหน้าที่ประกาศต่อไป

ฝ่ายพิธีกร : เมื่อถึงเวลาอันสมควร พิธีกรขึ้นสู่เวที: ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ/คะ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมเป็นสักขีพยานในวันมงคลสมรส ระหว่าง
นาย เรวัตร และ นางสาว กรวิกา ในค่ำคืนนี้ โอกาสแรกนี้ใคร่จะขอเรียนเชิญ คุณ........... และ ภรรยา คือคุณ.......... ให้เกียรติขึ้นมาสวมพวงมาลัยมงคลแก่คู่บ่าวสาว ขอเรียนเชิญครับ/ค่ะ
หลังจากการสวมมาลัยมงคลเสร็จสิ้นลงไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นตัวแทนของแขกที่มาร่วมงานขึ้นกล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว
พิธีกร : ต่อไปขอเรียนเชิญ คุณ วัฒนชัย ให้เกียรติขึ้นกล่าวคำอวยพรแก่คู่บ่าวสาว ขอเรียนเชิญครับ/ค่ะ
เมื่อการกล่าวอวยพรเสร็จสิ้นลง ฝ่ายเจ้าภาพหรือตัวแทนก็จะขึ้นกล่าวตอบขอบคุณ
พิธีกร : ต่อไปขอเชิญ คุณ เกษม...จะเป็นตัวแทนเจ้าภาพทั้งสองฝ่าย ขึ้นมากล่าวตอบขอบคุณแขกที่ร่วมเป็นสักขีพยานในงานมงคลสมรสในค่ำคืนนี้ ขอเรียนเชิญครับ/ค่ะ เมื่อเจ้าภาพกล่าวตอบขอบคุณจบลง
พิธีกร: ลำดับต่อจากนี้ไป เจ้าบ่าว และ เจ้าสาวของเราจะมากล่าวขอบคุณแขกผู้มีเกียรติ ขอเชิญทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาว ครับ/ค่ะ
เมื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวกล่าวขอบคุณจบลงไปแล้ว
พิธีกร : พิธีการของงานสมรสในค่ำคืนนี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ จงประสบแต่ความสุขความเจริญ ขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ สวัสดีครับ/ค่ะ
ข้อเสนอแนะ : งานมงคลสมรส หรือ งานแต่งงานแบบแรกที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ ถือเป็นแบบที่เรียบง่าย ใช้เวลาไม่มาก รวมเวลาตั้งแต่เริ่มงานจนกระทั่งเสร็จพิธีการน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้เป็นเพียงตัวอย่าง หรือเป็นตุ๊กตาที่ท่านสามารถนำไปดัดแปลง ปรับปรุงให้เข้ากับบรรยากาศ ปรับเวลาให้มากกว่า น้อยกว่าตามความเหมาะสม จุดประสงค์เพื่อที่จะให้มีการพัฒนาให้ดีขึ้น
ดังนั้นการที่ทำงานกระชับรวดเร็วและเรียบร้อยเป็นหัวใจสำคัญของงาน

Wednesday, August 26, 2009

พิธีกรมืออาชีพ

โดย อานุภาพ ไทยอุปถัมภ์
พิธีกร (Master of Ceremony: MC) คือ ผู้ดำเนินการในพิธีต่าง ๆ เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ กำกับ / นำ / อำนวยการ
ให้กิจกรรม รายการหรือ พิธีการต่าง ๆ ดำเนินการไปให้แล้วเสร็จ เรียบร้อยตามวัตถุประสงค์และกำหนดการที่วางไว้

หน้าที่ของพิธีกร เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้ฟัง / ผู้ชม / ผู้เข้าร่วมพิธี
โดยอย่างน้อยจะต้องมี ขบวนการดังต่อไปนี้

ตามลำดับในแต่ละกิจกรรม เช่น
1. แจ้งกำหนดการ
2. แจ้งรายละเอียดของรายการ
3. แนะนำผู้พูด ผู้แสดง

4. ผู้ดำเนินการอภิปรายและอื่น ๆ

เป็นผู้เริ่มกิจกรรม / งาน / พิธี / รายการ เช่น
1. กล่าวทักทาย ต้อนรับเชิญเข้าสู่งาน
2. เชิญเข้าสู่พิธี ดำเนินรายการต่าง ๆ แล้วแต่กิจกรรม
3. เชิญ เปิดงาน – ปิดงาน

เป็นผู้เชื่อมโยงกิจกรรม / งาน / พิธี / รายการต่าง ๆ เช่น
1. กล่าวเชื่อมโยงเหตุการณ์ตามลำดับ
2. แจ้งให้ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ
3. แจ้งขอความร่วมมือ
4. กล่าวเชื่อมโยงรายการให้ชวนติดตาม

เป็นผู้ส่งเสริมจุดเด่นให้งานหรือกิจกรรมและบุคคลสำคัญในงานพิธี / รายการ
โดยพิธีกรจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ในวาระที่เหมาะสม เช่น
1. กล่าวยกย่องสรรเสริญ ชื่นชมบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องในพิธี
2. กล่าวถึงจุดเด่นของงานพิธีนั้น ๆ
3. กล่าวแจ้งผลรางวัลและการมอบรางวัล

เป็นผู้ที่สร้างสีสัน บรรยากาศของงาน / พิธี / รายการ เช่น
1. ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมเป็นระยะ
2. มีมุขขำขึ้นเป็นระยะ ๆ

เป็นผู้เสริมสร้างความสมานฉันท์ในงาน / กลุ่มผู้ร่วมงาน เช่น
1. กล่าวละลายพฤติกรรม
2. กล่าวจูงใจให้รักสามัคคี

เป็นผู้เติมช่องว่างและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในงานพิธีต่าง ๆ เช่น
1. กล่าวชี้แจงกรณีบุคคลสำคัญไม่สามารถมาช่วยงานพิธีต่าง ๆ ได้
2. กล่าวทำความเข้าใจกรณีต้องเปลี่ยนแปลงกำหนดการ

โฆษกผู้ประกาศ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างหน่วยงาน องค์กร กับประชาชน
เพื่อให้ได้รับความสนับสนุนร่วมมือ อันจะทำให้กิจการงานนั้น ๆ ประสบผลสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์
ด้วยวิธีการที่แตกต่างในแต่ละกิจกรรม เช่น
• การบอกกล่าว
• การชี้แจง
• การเผยแพร่
• แก้ความเข้าใจผิด
• การสำรวจประชามติ

บทบาทการทำหน้าที่ของโฆษกผู้ประกาศ โดยการใช้เครื่องมือด้านสื่อต่าง ๆ เช่น เอกสาร สื่อวิทยุโทรทัศน์ จัดเวทีประชาคม เดินสำรวจประชามติ เป็นกระบวนการประชาสัมพันธ์ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป เช่นกระบวนการจัดกิจกรรมโดยใช้เวทีประชาคม ผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ ในการควบคุม ดำเนินการให้ไปตามวัตถุประสงค์ในแต่ละครั้ง ผู้ที่เป็นพิธีกรในการดำเนินการรายการดังกล่าว จะต้องมีความเข้าใจ ในกระบวนการ และรู้หลักการวิธีการ ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น ๆ เป็นภาระหน้าที่ของพิธีกรทั้งสิ้น ฉะนั้นจำเป็นที่จะต้อง ศึกษาบทบาทหน้าที่ของพิธีกรดังต่อไปนี้

พิธีกร คือ บุคลากรที่จะต้องพูดโดยใช้ความสามารถเฉพาะตนจากการฝึกฝนและศึกเท่านั้น ไม่ใช้สักแต่จะพูดอย่างเดียวไม่ มีความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมที่จะต้องรับผิดชอบในด้านการพูดในตำแหน่งพิธีกร ฉะนั้น จะต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจก่อนจะเป็นการเริ่มต้นที่จะทำหน้าที่ในการเป็นพิธีกรในกิจกรรมต่าง ๆ พิธีกรหรือโฆษก อาจจะเป็นบุคคลคนเดียวกันในกิจกรรมนั้น ๆ สร้างความเข้าใจในข้อมูล ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของข้อเท็จจริง ให้ทัศนะ ในโอกาสที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละสถานการณ์ ในแต่ละกิจกรรม พิธีกร จะถูกกล่าวถึงมากในกรณีที่เป็นทางการ ส่วนโฆษกจะเป็นคำที่เรียกใช้ในส่วนที่ ก่อนถึงเวลาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ หรือบางครั้งในท้องถิ่นชนบทจะเรียกรวมกันเช่น “ โฆษกพิธีกร ดำเนินการ ต่อไป ” ไม่ว่าจะเรียกว่าพิธีกรหรือโฆษกในกิจกรรมนั้น ๆ จะต้องเป็นการพูดคุย ในที่ชุมชน นั่นคือต่อคนส่วนมากทุกครั้งเป็นการพูดในที่ชุมชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก หากพูดผิดก็จะทำให้เสื่อมเสียแก่ตนเองและองค์กร และถ้าหากทำดีพูดดีก็จะมีสง่าราศีแก่ตนเองเช่นกัน ดังสุภาษิต ของสุนทรภู่ที่ว่า
“ ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดอยู่ที่พูดให้ถูกทาง ”

ฉะนั้น คนที่เป็นพิธีกรที่ดี มีความสามารถจะต้องมีการฝึกฝนเรียนรู้ในหลักการ
กลยุทธ์ในการพูดคุยต่าง ๆ ดังนี้ เช่น
• เตรียมพร้อม
• ซ้อมดี
• ท่าทีสง่า
• หน้าตาสุขุม
• ทักที่ประชุมอย่าวกวน
• เริ่มต้นให้โน้มน้าว
• เรื่องราวให้กระชับ
• จับตาที่ผู้ฟัง
• เสียงดังให้พอดี
• อย่าให้มีอ้ออ้า
• ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา

บุคคลที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องมีการเตรียมความพร้อม
และเตรียมตัวในการทำหน้าที่ จะมี 2 กลุ่มคือ
1. รู้ตัวก่อนและจะต้องเตรียมตัว
2. ไม่รู้มาก่อน จะต้องไปใช้ปฏิภาณ ไหวพริบทุกคนทำได้

การเตรียมตัวในการทำหน้าที่พิธีกร หรือโฆษก ผู้ประกาศ
พิธีกรหรือโฆษก จะต้องมีการเตรียมตัวในการทำหน้าที่ ดังนี้
1. ศึกษาข้อมูล / วิเคราะห์สถานการณ์ ผู้นำ ผู้ชม โอกาส วัตถุประสงค์ของงานพิธี รายการที่กำหนดไว้
เพื่อทราบความมุ่งหมายของการทำหน้าที่
2. เตรียมเนื้อหาและคำพูด เริ่มต้นอย่างไร ? มุขตลก ขำขัน แทรกอย่างไร คำคม ลูกเล่น จุดเด่นที่ควรกล่าวถึง ต้องเตรียมค้นคว้าศึกษาจากศูนย์ข้อมูลมาให้พร้อม
3. ตรวจสอบความเหมาะสม ของบทความที่เตรียมมาว่าเหมาะสมกับเวลาหรือไม่
4. ต้องมีการฝึกซ้อมไม่ว่าจะซ้อมหลอกหรือซ้อมจริง ต้องมีการฝึกซ้อม
5. ศึกษาสถานที่จัดงานหรือพิธีที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
6. เตรียมเสื้อผ้าและชุดการแต่งกาย อย่างเหมาะสมกับกิจกรรม พร้อมดูแลตั้งแต่ หัวจรดเท้า

ข้อควรปฏิบัติในการทำหน้าที่ของพิธีกรหรือโฆษก มีดังนี้
• ทำจิตให้แจ่มใส
• ไปถึงก่อนเวลา
• อุ่นเครื่องแก้ประหม่า
• ทำหน้าที่สุดฝีมือ
• เลื่องลือผลงาน


ข้อพึงระวังสำหรับการทำหน้าที่เป็นพิธีกร
• ต้องดูดีมีบุคลิก
• ต้องรักษาเวลาอย่างเคร่งเครียด
• ต้องแสดงออกอย่างสุภาพและให้เกียรติ ร่าเริงแจ่มใส ให้ความเป็นกันเอง
• ต้องมีการประสานงานด้านข้อมูล และพร้อมเผชิญปัญหาโดยไม่หงุดหงิด
• ต้องใช้ภาษาให้ถูกต้องชัดเจนให้ชวนฟัง น่าติดตาม
• ต้องเสริมจุดเด่นของคนอื่นไม่ใช่ของตนเอง
• สร้างความประทับใจ ด้านสุภาษิต หรือคำคม